top of page

ชมสวนธรรมชาติ สดับธรรมะที่เสถียรธรรมสถาน

ชมสวนธรรมชาติ สดับธรรมะที่เสถียรธรรมสถาน
https://www.baanlaesuan.com/109372/gardens/buddhist-temple (บ้านและสวน 29 พฤศจิกายน 2561)

นับถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่าสามสิบปีแล้วที่ ‘เสถียรธรรมสถาน’ อยู่คู่กับสังคมไทย จากทุ่งนาว่างเปล่าในแถบรามอินทราซึ่งในขณะนั้นถือเป็นย่านชานเมือง ปัจจุบันสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ได้กลายเป็นศูนย์รวมพุทธศาสนิกชนที่ต้องการฝึกจิตและเจริญสมาธิ เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมะรวมถึงธรรมชาติด้วย นับถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่าสามสิบปีแล้วที่ ‘เสถียรธรรมสถาน’ อยู่คู่กับสังคมไทย จากทุ่งนาว่างเปล่าในแถบรามอินทราซึ่งในขณะนั้นถือเป็นย่านชานเมือง ปัจจุบันสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ได้กลายเป็นศูนย์รวมพุทธศาสนิกชนที่ต้องการฝึกจิตและเจริญสมาธิ เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมะรวมถึงธรรมชาติด้วย

เพราะที่ ‘เสถียรธรรมสถาน’ นี่มีสวนที่สวยไม่แพ้สวนใดในประเทศไทย สวนที่มีทั้งความร่มเย็นและความเงียบสงบ คนที่รุ่มร้อนเมื่อยามที่มาที่นี่กลับบ้านไปก็จะเย็นขึ้น หรือคนที่มีทุกข์ก็มาปลดปล่อยความทุกข์ทิ้งไว้ที่นี่ กลับบ้านไปก็จะมีแต่ความสุข ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นสิ่งที่ผมสัมผัสได้ยามเมื่อเข้ามาที่ ‘สวนธรรม’ ซึ่งตั้งอยู่ภายในเสถียรธรรมสถาน

ธรรมชาติถือเป็นครูของมนุษย์  เป็นผู้สอนโดยที่เราไม่รู้ตัว และเป็นผู้ให้โดยที่เราไม่รู้สึก สวนธรรมแห่งนี้เป็นที่รวมต้นไม้ใหญ่อายุนับร้อย ๆ ปีที่ถูกมนุษย์ปฏิเสธ โดย แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน ได้รับมาดูแลจนกระทั่งต้นไม้เหล่านั้นเจริญเติบโตคอยให้ร่มเงาแก่ผู้มาปฏิบัติธรรม

“วันที่เราเห็นต้นไม้ถูกปฏิเสธจากที่หนึ่ง เราก็ได้เรียนรู้จากสิ่งที่ถูกปฏิเสธ ไม่ได้คิดว่าเราช่วยได้หรือไม่ได้ เก่งหรือไม่เก่งนะ เพียงแต่อยากจะบอกว่าการที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดในโลกใบนี้ถูกปฏิเสธ มันจะเกิดการเรียนรู้และเติบโต เมื่อต้นไม้ต้นหนึ่งไปอยู่ในที่ดินที่มีการทำรังวัดเพื่อตัดถนนผ่าน คนต้องการถนน ต้นไม้จึงถูกปฏิเสธ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วเมื่อมีความต้องการอย่างหนึ่งก็ต้องละทิ้งอีกอย่างหนึ่ง

“ตอนนั้นยังไม่รู้หรอกว่าจะช่วยต้นไม้ด้วยวิธีไหนหรือทำอย่างไร รู้อย่างเดียวคือมีใจอยากจะช่วย เช่น ต้นไกรจากปราจีนบุรี ซึ่งก็ทำให้แม่ได้เรียนรู้ว่าต้นไม้ไม่ยอมยืนต้นตาย เมื่อเราย้ายมาปลูกที่นี่มันก็พยายามแตกรากต่อยอดเพื่อเติบโต ไม่ว่าใครจะรดน้ำหรือไม่รดน้ำ ใครจะปฏิเสธหรือไม่สนใจ ต้นไม้ก็ยังคงทำหน้าที่ให้ออกซิเจนแก่โลกและมนุษย์ต่อไปโดยไม่มีเงื่อนไข เป็นอะไรที่งดงามมาก แม่เป็นคนรักต้นไม้ จากต้นแรกที่ช่วยคือต้นไกร ต่อมาก็เป็นพวกไทร  ลั่นทม จากที่เคยเช่ารถเพื่อการขนย้าย ปัจจุบันซื้อรถไว้ขนย้ายเองเลย แม่เชื่อว่าต้นไม้เป็นครูของเรา อย่างที่บอกว่าต้นไม้ไม่ยอมยืนต้นตาย แต่คนเรานี่อะไรนิดอะไรหน่อยก็ฆ่าตัวตาย ถูกปฏิเสธหน่อยก็เป๋ รากไม่แข็งแรง มนุษย์นี่แปลก มีธรรมชาติบางอย่างที่อ่อนแอ คือถูกปฏิเสธไม่ได้ อายต้นไม้นะ”



แม่ชีศันสนีย์บอกว่าตำแหน่งปลูกต้นไม้ในสวนธรรมไม่ได้ออกแบบบนกระดาษ แต่เกิดจากการสังเกต เรียนรู้จากต้นสู่ต้น โดยมีลูกศิษย์คือ คุณชม เอิบผักแว่น เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ

“สิ่งที่เรียนรู้จากต้นไม้อีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าคนที่ปลูกต้นไม้ไม่รักต้นไม้ ไม่เฝ้าสังเกต ไม่คอยดูแลและฟื้นฟูต้นไม้อย่างเหมาะสม ต้นไม้ก็จะไม่เติบโต การปลูกต้นไม้ไม่ใช่เรื่องของความสามารถ แต่เป็นเรื่องของความเอาใจใส่มากกว่า ลมหายใจเข้าของฉันคือความรักของต้นไม้ ลมหายใจออกของต้นไม้คือความรักของฉัน ฉันกับต้นไม้มีลมหายใจเดียวกัน นี่จึงเป็นที่มาของบทเพลง ‘ดั่งดอกไม้บาน’ ต้นไม้มีชีวิต อะไรที่เกี่ยวกับชีวิตต้องใช้ใจ ที่นี่จึงเป็นป่าที่ปลูกด้วยมือในวันวาน ปัจจุบันเป็นป่าที่ปลูกใจคน ในแต่ละวันแต่ละอาทิตย์จะมีผู้คนแวะเวียนผ่านเข้ามาที่นี่ มาเดินจงกรม ทำสมาธิ ใช้เวลาในการนั่งไตร่ตรองเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิต ที่นี่เป็นสวนธรรมที่ทุกคนเข้ามาเพื่อละตัวตนที่ยึดมั่นถือมั่น อย่างวันหนึ่งมีโยมมานั่งในสวนและกำลังคิดจะทำร้ายตัวเอง แต่เมื่อโยมท่านนั้นสังเกตเห็นดอกลั่นทมร่วงลงมาจากต้น ทำให้เขาคิดได้ว่าในโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่ไม่ร่วงโรย หลังจากนั้นก็เลิกความคิดที่จะทำร้ายตัวเองไปเลย”


ผมนั่งฟังแม่ชีศันสนีย์เล่าเรื่องธรรมะอย่างออกรส ทุกแง่มุมที่ได้ยินมีคำสอนไว้คอยดึงสติ จริงอย่างที่ท่านว่า ทุกสิ่งที่เสถียรธรรมสถานมีที่มา มีเรื่องราว นอกจากสวนแล้ว ยังมีสิ่งก่อสร้างที่เรามักมองข้ามกัน อย่างเช่น สะพานไม้เล็ก ๆ ซึ่งท่านอธิบายว่า



“เป็นสิ่งก่อสร้างชิ้นแรกในสวนธรรม เป็นสะพานแห่งสติที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อความสวยงาม แต่สร้างมาเพื่อให้คนที่ก้าวข้ามนั้นมีสติพิจารณาในทุกย่างก้าว เพราะในแต่ละช่วงที่ก้าวจะมีช่วงระยะห่าง มีความสูงต่ำไม่เท่ากัน ถ้าคุณไม่มีสติ คุณก็จะก้าวพลาด”


ผมยังสังเกตอีกอย่างว่าที่สวนธรรมแห่งนี้มักมีเนินหญ้าสูงบ้างเตี้ยบ้าง อันเนื่องมาจากการปลูกต้นไม้ที่ไม่เหมือนใคร แม่ชีศันสนีย์กรุณาเล่าให้ฟังว่า

“เราจะไม่ปลูกต้นไม้ด้วยความอยาก เพราะถ้าเราปลูกต้นไม้ด้วยความอยากปลูก ต้นไม้ก็จะเป็นภาระ ต้นไม้ที่ปลูกที่นี่ไม่มีการขุดหลุม เราใช้วิธีนำไปวางยังที่ที่เราอยากให้ต้นไม้อยู่ จากนั้นเราจะขุดดินมาถมจนเป็นเนินเล็กบ้างใหญ่บ้าง ที่สำคัญคือการค้ำยันต้นไม้ทุกต้นต้องคำนึงถึงความปลอดภัย เหตุผลที่ไม่ขุดหลุมเพื่อปลูกต้นไม้ก็เพราะว่าเราสังเกตว่าทุกครั้งที่ขุดหลุมปลูก ต้นไม้ต้นนั้นมักจะไม่รอด จึงต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีนี้แทน”

ว่ากันว่า ‘ธรรมะก็คือธรรมชาติ’ ผมจึงอยากให้คุณผู้อ่านลองพาครอบครัวมาสัมผัสบรรยากาศแห่งธรรมสักครั้งหนึ่งในชีวิต มาที่นี่ได้ทั้งธรรมะและธรรมชาติกลับไป เชื่อว่าคุณจะต้องมีพลังกายและพลังใจสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ต่อไปอย่างแน่นอน

คุณผู้อ่านท่านใดอยากเก็บภาพอันน่าประทับใจของสวนธรรมแห่งนี้ ติดตามต่อได้ในคอลัมน์ ‘สวนสวย’ นิตยสารบ้านและสวน ฉบับเดือนมิถุนายน 2561 หาซื้อได้แล้วที่ร้านนายอินทร์และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปครับ


ขอขอบคุณ

เสถียรธรรมสถาน แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต แม่ชีจิราภรณ์ ขนาดนิด คุณวัชรี สุขศรี คุณชม เอิบผักแว่น


เรื่อง: ‘ไตรรัตน์ ทรงเผ่า’ ภาพ: ฤทธิรงค์ จันทองสุข, สิทธิศักดิ์ น้ำคำ


bottom of page