เกี่ยวกับเรา
"ดีกับใครสักคน เพื่อให้คนคนนั้น
กลับไปดีกับคนอีกหลายคนในครอบครัวของเขา
คือหนึ่งในหน้าที่ของเรา 'เสถียรธรรมสถาน' "
แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
มูลนิธิเสถียรธรรมสถาน (ส.ธ.ส.)
Sathira-Dhammasathan Foundation (S.D.S.F.)
จดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2548 และได้รับอนุญาตให้เป็นมูลนิธิที่ใช้เพื่อการลดหย่อนภาษีได้เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554
วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
1. เพื่อดำเนินการเผยแผ่ธรรมแก่มวลมนุษยชาติ โดยใช้พุทธธรรมนำสังคม อันจะทำให้มีชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์
2. เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ ส่งเสริม สนับสนุน ให้สตรีและเด็กที่ต้องการโอกาส มีความพร้อมที่จะดูแลตัวเองและผู้อื่นเพื่อคุณภาพชีวิตที่นำไปสู่สุขภาวะ
3. เพื่อเป็นช่องทางให้บุคคลที่มีความพร้อมมาร่วมอาสาสมัคร ผ่านการทำงานรับใช้ผู้อื่นและสังคมโดยรวม
4. เพื่อดำเนินกิจกรรมการเผยแพร่สื่อธรรมะผ่านช่องทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือ เว็บไซต์ และอื่นๆ โดยมุ่งให้เป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่งานพระศาสนา
5. เพื่อดำเนินกิจกรรมโดยการร่วมมือกับบุคคลตลอดจนองค์กรการกุศลอื่นๆ โดยมุ่งให้เกิดสาธารณประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง
6. เพื่อดำเนินการหาทุนสนับสนุนการศึกษา เพื่อสร้างอริยะให้สังคม (ดำเนินการจัดหาทุนซื้อที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างตลอดจนอุปกรณ์การศึกษา
และให้ทุนการศึกษาเพื่อสนับสนุนการศึกษาของสาวิกาสิกขาลัย มหาวิชชาลัยธรรมเพื่อเยียวยาสังคม)
7. ไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการเมือง
ประธานมูลนิธิ เสถียรธรรมสถาน
นางสายสัมพันธ์ ปัญญศิริ
ผู้รับใช้พระธรรม 'สายสัมพันธ์ ปัญญศิริ' พี่สาว 'แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต'
"อย่าคาดหวังกับที่นี่ อย่าคาดว่าที่นี่เป็นสถานปฏิบัติธรรมแล้วทุกอย่างจะดีไปหมด เพราะว่าคนที่เดินเข้ามา 90% มีความทุกข์ แล้วทุกคนเข้ามาเพื่อเรียนรู้ที่จะพ้นทุกข์ แต่ละคนก็เดินอยู่ จังหวะไหนอาจเกิดไม่ใช่ขึ้นมาก็ได้ เพราะฉะนั้นอย่าคาดหวัง เราไม่ได้ปฏิเสธที่จะรับคุณ แต่คุณต้องเข้าใจก่อน เพราะเราไม่อยากให้คุณผิดหวังกลับไป"
"เมื่อก่อนตอนเด็กๆ เราทะเลาะกันประจำ เราไม่เรียกพี่เรียกน้องกันนะ เพราะวัยใกล้กันมาก เราเรียก เธอ-ชั้น จนกระทั่งแม่สิ้น ตอนนั้นน้องอยู่กับแม่ เรากำลังสอบรับหมวกพยาบาลอยู่ ไม่มีคนบอก แต่รู้ว่าแม่ป่วย เคยไปเยี่ยมท่าน ท่านใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ เราก็คิดว่า ท่านคงยังไม่เป็นไร พอท่านสิ้นเราไม่รู้เลย สอบเสร็จเราถึงรู้ ตอนเราไปวัด น้องก็เดินมากอดร้องไห้ แล้วเรียกพี่ วันนั้นเป็นวันแรกที่เรียกเราว่า พี่ เรายังตกใจเลยว่า ฮะ! เรียกเราพี่เหรอ แล้วก็พูดว่าเราไม่มีใครแล้ว เรามีกันแค่พี่น้อง"
สายสัมพันธ์ ปัญญศิริ หรือ 'ตุ๋มติ๋ม' พี่สาวคนเดียวของ 'ตุ๊กตา' หรือ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้ง เสถียรธรรมสถาน เล่าถึงวัยเยาว์ตั้งแต่แม่จากไปในวัยที่ทั้งคู่อายุเพียง 17 ปี และ 15 ปี ขณะที่พ่อซึ่งไม่ยอมรับสาวน้อย 'ตุ๊กตา' เป็นลูกตั้งแต่เกิดมา แต่ภายหลังที่แม่ชีศันสนีย์บวชเรียนผ่านไป 25 ปี ก่อนที่คุณพ่อของท่านสิ้น คุณพ่อของท่านกลับมาขอโทษ และชื่นชมลูกสาวคนเล็กนี้เป็นที่สุด... และเมื่อ 9 ปีก่อน (พ.ศ. 2539) คุณสายสัมพันธ์ก็ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่อีกครั้ง เมื่อแม่ชีศันสนีย์ปรารภให้มาช่วยงานที่เสถียรธรรมสถาน และดูแลศูนย์เด็กก่อนเกณฑ์วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต วัดแรกที่แม่ชีศันสนีย์บวชเรียนเมื่อ 25 ปีก่อน ในที่สุดเธอยอมสละชีวิตทางโลกจากตำแหน่งหน้าที่บริหารระดับสูงในบริษัท แพนคอสเมติก มาเป็นผู้รับใช้พระธรรมในเสถียรธรรมสถาน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับโครงการนำร่องสาวิกาสิกขาลัยก็เพิ่งเริ่มขึ้น ในครั้งนั้นเธอก็ถูกเกณฑ์เข้าไปเรียนพระอภิธรรมด้วย จนกระทั่งทุกวันนี้ ถือว่าเธอคือหนึ่งในสาวิกาที่เติบโตมาพร้อมๆ กับการก้าวไปข้างหน้าเพื่อรับใช้เพื่อนทุกข์ของเสถียรธรรมสถาน
จากโอกาสที่ได้เข้ามารับใช้พระธรรมตั้งแต่ปี 2539 เมื่อเข้ามาใหม่ๆ ไม่ได้เข้ามาเพื่อปฏิบัติแต่เข้ามาเพื่อบริหารจัดการ ก็มีการคุยกันเล่นๆ กับท่านแม่ชีว่า ทางโลกพี่ตุ๋มเอาไป ทางธรรมเราเอา แล้วเราจะไม่ก้าวก่ายกัน แม่ชีหมายความว่า เราไม่อยากให้ใครมาพูด มาว่าพี่สาวเราจุ้นจ้าน เราก็บอกไม่มีปัญหา เรื่องต้นไม้ เรื่องสวนอะไรนี่เราไม่ถนัด ท่านก็ดูของท่านไปเอง ก็เหมือนกันแบ่งหน้าที่กันไปตรงนั้น มาอยู่ที่นี่เราต้องเปลี่ยนตัวเองพอสมควร บุคลิกก็ต้องเปลี่ยนหมด เครื่องแต่งกายก็ต้องเปลี่ยนหมด อะไรที่เกี่ยวแล้วมันขาดก็ต้องเปลี่ยนหมด ผ้าบางๆ เบาๆ ก็ไม่ได้ใช้ กลับมาใส่ยีนส์
คือวิถีชีวิตของตัวเองเปลี่ยน การแต่งเนื้อแต่งตัวเปลี่ยน การไปไหนต้องมีเครื่องประดับหรูหราถอดเก็บหมด ไม่ได้ใส่ เราก็รู้สึกว่ามันก็เป็นตัวเรา สบายใจ และชัดเจน ก็รู้สึกว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่เราเคยใช้มันก็เป็นแค่มายาเท่านั้นเอง สำหรับเราตอนนี้ระหว่างทางโลกกับทางธรรม ตอนนี้สามารถผสานไปด้วยกันได้ อยู่ได้สบายๆ เราอยากจะบอกว่า ไม่ต้องบวชก็ได้ เพราะว่าจริงๆ แล้ว เราสามารถดูแลตัวเองได้ เราสามารถปฏิบัติได้ เราสามารถที่จะไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนเพราะเราได้ คุยกับใครก็ได้ที่เดินเข้ามาแล้วเราสามารถนำธรรมะสอดแทรกให้เขารู้สึกดีขึ้นได้ แบ่งปันประสบการณ์จากตัวเองส่วนหนึ่ง จากคนอื่น จากการฟังธรรม เราก็สามารถช่วยคนอื่นได้
เมื่อเราเองก็เป็นหนึ่งในสาวิกาธิดาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราทำหน้าที่ตามที่ท่านแม่ชีศันสนีย์ได้วางแนวทางไว้ ที่เสถียรธรรมสถานตอนนี้ก็ยังมีอบรมอานาปานสติ 3 วัน ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เป็นการชวนให้ทุกคนเข้ามาเรียนข้างในของตัวเองก่อน เริ่มต้นตั้งแต่ทำวัตรสวดมนต์เช้า -เย็น ก็มีคำอธิบายว่า สวดไปทำไม สวดแล้วได้อะไร สวดทั้งภาษาไทยและภาษาบาลี จะได้เห็นว่าพระพุทธองค์สอนอะไรในคำสวด ฝึกสมาธิในการนั่ง เดิน ยืน นอน การเคลื่อนไหวใจหยุดนิ่ง การทำงานแล้วจิตนิ่งได้อย่างไร การกวาด การถู การอาบน้ำในชีวิตประจำวัน เราอาศัยสิ่งเหล่านี้เรียนข้างในด้วย ทบทวนข้างใน เรียนเรื่องอุปกิเลส 16 ให้ทุกคนกลับไปทบทวน สอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท อริยสัจสี่ อริยมรรคมีองค์ 8 องค์คุณที่ทำให้พ้นทุกข์ร่วมกัน เพราะนโยบายของคุณแม่ที่ให้ไว้กับการทำให้ผู้หญิงได้เรียนในสถานที่ที่เรียกว่าสาวิกาสิกขาลัยคือ เราจะพ้นทุกข์ร่วมกันอย่างไร
(ที่มา : สัมภาษณ์พิเศษ โดย มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ พ.ศ.2548)
แนวคิดของเสถียรธรรมสถาน
Learning community for peace and harmony
ชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างศานติ โดยมีพุทธธรรมเป็นรากฐาน ทำงานสร้างชีวิตตั้งแต่ปฏิสนธิจิตจนคืนชีวิตสู่ธรรมชาติ
สุข 3 ขั้น
สุขพอเพียงคือ 'สุข 3 ขั้น' ได้แก่ สุขง่ายใช้น้อย สุขเมื่อสร้าง สุขเมื่อให้
อาสาสมัครหัวใจโพธิสัตว์
ยอมตนให้คนใช้ ฝึกตนเพื่อใช้คน ไม่รอให้ใครใช้
ครอบครัวแห่งสติ
เพราะครอบครัวคือหัวใจของการเยียวยาและดูแลคนในทุกช่วงวัย ครอบครัวแห่งสติจึงเป็นครอบครัวที่ใช้สติในการอยู่ร่วมกันและส่งเสริมให้ทุกคนอยู่เย็นเป็นสุขและพ้นทุกข์ร่วมกันได้