
หมวดที่ ๑๑ ว่าด้วยการมีสังวร ๑๓ เรื่อง (หน้า ๒๕๒)
ผู้เอาตัวรอดได้เพราะสังวรด้วยความรู้ ๑
•ภิกษุ ท. ! เมื่อบุคคลรู้อยู่เห็นอยู่ ซึ่ง (เรื่องราวของ) ตา ตามที่เป็นจริง, รู้อยู่เห็นอยู่ ซึ่ง
(เรื่องราวของ) รูป ตามที่เป็นจริง, รู้อยู่เห็นอยู่ ซึ่ง
(เรื่องราวของ) ความรู้แจ้งทางตา ตามที่เป็นจริง, รู้อยู่เห็นอยู่ ซึ่ง (เรื่องราวของ) สัมผัสทางตา ตามที่เป็นจริง, และรู้อยู่เห็นอยู่ ซึ่ง (เรื่องราวของ) เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางตา ที่เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง ตามที่เป็นจริง; เขาย่อมไม่หลงรักในตา ไม่หลงรักในรูป ไม่หลงรักในความรู้แจ้งทางตา ไม่หลงรักในสัมผัสทางตา และไม่หลงรักในเวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางตา ทั้งที่เป็นสุข เป็นทุกข์ และไม่ทุกข์ไม่สุข ;
•เมื่อไม่หลงรัก ไม่ผูกใจ ไม่หลงใหลไปตาม แต่มีปรกติพิจารณาเห็นโทษของสิ่งนั้น ๆ อยู่ ดังนี้แล้ว ความยึดถือในขันธ์ทั้งห้าของเขา ก็หยุดฟักตัวในกาลต่อไป; ตัณหาคือความทะยานอยากอันระคนด้วยความเพลิดเพลินและกำหนัดรัก ซึ่งมีปรกติเพลินเฉพาะต่ออารมณ์นั้น ๆ ของบุคคลนั้น ก็เสื่อมถอยคลายคืน; ต่อนั้นไป
ความกระวนกระวายทางกายก็เสื่อมถอยคลายคืน; ความกระวนกระวายทางจิตก็เสื่อมถอยคลายคืน; ความร้อนรุมทางกายก็เสื่อมถอยคลายคืน; ความร้อนรุมทางจิตก็เสื่อมถอยคลายคืน; ความร้อนกลุ้มทางกายก็เสื่อมถอยคลายคืน; ความร้อนกลุ้มทางจิตก็เสื่อมถอยคลายคืน; เขาได้เสวยสุขทั้งทางกายและทางใจ;
•ทิฏฐิความเห็นของเขา ผู้เป็นแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ (ความเข้าใจที่ ถูกต้อง); ความคิดของผู้เป็นแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นสัมมาสังกัปปะ (ความมุ่งหมาย ที่ถูกต้อง) ; ความเพียรของผู้เป็นแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นสัมมาวายามะ(ความพยายามที่ถูกต้อง); ความระลึกของผู้เป็นแล้วอย่างนี้ย่อมเป็นสัมมาสติ (ความระลึกที่ถูกต้อง) ; สมาธิของผู้เป็นแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นสัมมาสมาธิ (ความตั้งจิตมั่นไว้ในแนวที่ถูกต้อง); กายกรรม วจีกรรม และอาชีวะของเขา ก็บริสุทธิ์ดีแล้วมาตั้งแต่แรก;
อริยอัฏฐังคิกมรรคของเขาย่อมถึงความเจริญเต็มที่ ด้วยอาการอย่างนี้
เมื่อเขาทำอริยอัฎฐังคิกมรรคให้เจริญอยู่อย่างนี้ สติปัฏฐานสี่ - - -
สัมมัปปธานสี่ - - - อิทธิบาทสี่ - - - อินทรีย์ห้า - - - พละห้า - - -โพชฌงค์
เจ็ด - - - ย่อมถึงความงอกงามบริบูรณ์ได้แท้ .
ธรรมสองอย่างของเขาคือ สมถะ และวิปัสสนา ชื่อว่าเข้าคู่กันได้
อย่างแน่นแฟ้น - - -
(ในกรณีของ หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีข้อความอย่างเดียวกัน)
-----------------------------------------------------------------
๑. บาลี พระพุทธภาษิต สฬายตนวิภังคสูตร อุปริ. ม. ๑๔/๕๒๓/๘๒๘.