top of page
sweettree8

อย่าหลับตาอยู่กับความกลัว

ความกลัว...เป็นความคิดที่ทำร้ายเรามากกว่าความจริง เรื่องเล่าจากประสบการณ์ของจิตอาสาหัวใจโพธิสัตว์ที่เปลี่ยนความกลัว ‘เผชิญหน้ากับความเจ็บปวด’ เป็นความกล้าที่จะ 'มองเห็นทุกข์อย่างที่เป็น' จนเริ่มเห็นทางพ้นทุกข์

กาลครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 18 ปีที่แล้ว มีสาวน้อยคนหนึ่งได้เดินเข้ามายังบ้านหลังที่ 2 คือ เสถียรธรรมสถานแห่งนี้ ด้วยความทุกข์อันมากมาย หลังพบว่าคุณพ่อที่เธอรักป่วยเป็นมะเร็ง มันมีทั้งความรู้สึกอึ้ง ตกใจ เสียใจ ความทุกข์ที่บีบคั้นเหล่านี้นำพาให้เธอแสวงหาหนทางที่จะสร้างกุศลเพื่อช่วยคุณพ่อ 'ศิลปะการดำเนินชีวิตด้วยอานาปานสติภาวนา' เป็นโครงการที่เธอมาเข้าปฏิบัติธรรมอยู่ร่วม 10 ครั้ง เธอมาบ่อยเพราะชอบมารับพลังความเบิกบาน 'ดั่งดอกไม้บาน' จากท่านอาจารย์คุณแม่ชีศันสนีย์ตอนนำภาวนากายเคลื่อนไหวกับบทเพลง และสอนสดๆ ซึ่งกะเทาะความทุกข์ที่มีอยู่ให้กระเด็นออกไปอย่างรวดเร็ว แต่ในชั่วโมงการเรียนรู้เรื่องการเยียวยาผู้ป่วยระยะท้าย ที่เปิดวีดีโอคลิปเยียวยา 'บัว' ผู้ป่วยมะเร็ง เธอกลับนั่งก้มหน้าหลบตามองพื้นอยู่ด้วยความกลัว เมื่อได้ยินแต่เสียงร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดของผู้ป่วยก็ยิ่งกลัว เธอพยายามหนีออกนอกธรรมศาลาไปห้องน้ำบ้าง แต่แล้วก็ต้องกลับเข้ามาอยู่ดี สุดท้ายชีวิตจริงก็หนีไม่พ้น เมื่อคุณพ่อของเธอได้กลายร่างเป็นสภาพที่ไม่ต่างจากผู้ป่วยระยะท้ายที่มีหลายสายในการช่วยชีวิตระโยงระยางอยู่นานหลายปี

เวลาผ่านไปเนิ่นนาน สาวน้อยคนนี้ก็กลับมาบ้านหลังที่ 2 อีกครั้ง เธอได้มีโอกาสรับชมวีดีโอเยียวยา ‘บัว’ คลิปเดิมอีกครั้ง ในงานเทศกาล 'อยู่อย่างมีความหมาย ตายอย่างมีคุณค่า' ที่มีกิจกรรมเยียวยาผู้ป่วย ผู้ดูแล และผู้สูญเสีย ซึ่งเสถียรธรรมสถาน จัดร่วมกับ ‘ชมรมพยาบาลแบบประคับประคอง’ ครั้งนี้เธอมีมุมมองต่อคลิปนั้นต่างไปจากเดิมมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่เธอกล้าลืมตาดูวิดีโอนั้นจริงๆ ตลอดทั้งคลิป

เธอได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็น นั่นคือแง่งามของคลิปในขณะที่ท่านแม่ชีกำลังช่วยเยียวยาผู้ป่วยผ่านการสัมผัสและจูงจิตผู้ป่วยให้กลับสู่ปัจจุบันขณะด้วยความรักความอ่อนโยนจนพ้นจากความเจ็บปวด เห็นธรรมชาติของกายที่ปล่อยวางและคืนลมหายใจได้อย่างสงบ เมื่อกล้าเปิดตาจึงได้รับรู้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง รวมถึงเมื่อได้เปิดใจใคร่ครวญ รับฟังและสะท้อนการเรียนรู้กับกลุ่มผู้เข้าร่วมหลังชมคลิปเสร็จ ก็ทำให้เธอตระหนักว่า การหลับตาอยู่กับความกลัวความเจ็บปวดมันน่าเจ็บปวดเพียงใด ที่ผ่านมาเธอทุกข์เพราะหนีทุกข์ การไม่ยอมรับกับทุกข์ตรงหน้าทำให้ไม่เห็นทางพ้นทุกข์ นี่คงเป็นเหตุผลว่าทำไมท่านแม่ชีจึงสอนว่า 'อย่าหลับตาอยู่กับความกลัว'

ในครั้งนั้นทำให้เธอตระหนักว่ามันสำคัญเพียงใดที่เธอจะร่วมเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกับผู้อื่น เพราะเมื่อเรามองคนเดียวเราก็ไม่เห็นหรือเห็นแค่ในมุมของเรา เป็นการยากที่จะตระหนักว่าเราเห็นอะไรและไม่เห็นอะไร รวมถึงภาพที่เห็นและไม่เห็นนั้นส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกเราอย่างไร การเรียนรู้ใจตนเองมากมายเกิดขึ้นเมื่อมีคนนำด้วยการชี้ชวน ตั้งคำถาม ให้เราสังเกตและสะท้อนออกมา


บัดนี้ เธอพบว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอข้ามพ้นความกลัวสู่ความกล้าในการมองทุกข์ครั้งนั้นได้ นอกจากประสบการณ์ตรงในการดูแลคุณพ่อผู้ป่วยแบบเดียวกันจนจากไปแล้ว ก็คือ การได้ฝึกภาวนากับลมหายใจและเผชิญหน้าสังเกตความเจ็บปวดของกายจนได้เห็นถึงธรรมชาติของความเจ็บปวดที่ไม่เที่ยง รวมทั้งการผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ทั้งนี้ จากประสบการณ์ข้างต้นและการได้เข้ามาร่วมเป็นจิตอาสาในกิจกรรม ‘ชีวาภิบาล’ เธอพบว่า เธอสามารถได้รับทั้งองค์ความรู้ในการดูแลเยียวยาผู้ป่วยจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ และเรียนรู้ประสบการณ์ตรงของผู้เข้าร่วมที่ทำให้เธอได้รู้มากกว่าที่เคยรู้ เห็นได้มากกว่าที่เคยเห็น 'ตาวิเศษ' ในตัวเธอจึงเริ่มปรากฏขึ้น ดังคำสอนพระพุทธองค์ ที่กล่าวว่า 'การได้ฟังคำแนะนำจากกัลยาณมิตร (ในที่นี้คือวิทยากรจิตอาสาหัวใจโพธิสัตว์และเพื่อนผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่มีประสบการณ์) และการโยนิโสมนสิการ(การพิจารณาใคร่ครวญภายในตน) เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดปัญญา (สัมมาทิฐิหรือความเห็นชอบ) ได้’


* อ้างอิงที่มา : ‘พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ 12 สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตโต)

ในสถานการณ์ที่ทุกครอบครัวอาจต้องพบเจอกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ตอนนี้เราเห็นอะไรและยังไม่เห็นอะไร? ชวนมา เปิดตา และเปิดใจ รับฟัง แลกเปลี่ยน เรียนรู้ เพื่อเดินทางสู่ความพ้นทุกข์ร่วมกันได้ โดยเข้าร่วมปฏิบัติธรรมหลักสูตร ‘ศิลปะการดำเนินชีวิตด้วยอานาปานสติภาวนา’ (3 วัน 2 คืน) สมัครที่ไลน์ @sdssil8 หรือเข้าร่วมแบบไปกลับใน ‘กิจกรรมชีวาภิบาล’ ในวันครอบครัวแห่งสติ ทุกวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือน สมัครและสอบถามได้ที่ไลน์ @sdsfamily


ผู้เขียน Inner Selfie of the Heart

ดู 26 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page