เสถียรธรรมสถานจับมือ 7 องค์กรหลักด้าน Palliative Care สืบสานปณิธานท่านแม่ชีศันสนีย์
22 กุมภาพันธ์ 2565 เสวนา ‘อยู่อย่างมีความหมาย ตายอย่างมีคุณค่า’ หน้ากายสังขารท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ณ เสถียรธรรมสถาน https://youtu.be/OMaOhqr18y0 เพื่อสืบสานปณิธานด้านการดูแลแบบประคับประคอง(Palliative Care) ให้เข้าถึงครอบครัวไทย โดย คุณสายสัมพันธ์ ปัญญศิริ ประธานมูลนิธิเสถียรธรรมสถาน ร่วมกับ พระมหาสุเทพ สุทธิญาโณ ผศ.ดร. ประธานกลุ่มอาสาคิลานธรรม , ดร.ปานตา อภิรักษ์นภานนท์ ที่ปรึกษาชมรมพยาบาลแบบประคับประคอง , ศ.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร อุปนายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย , คุณวรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death , ศ.(พิเศษ)กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงษ์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ชีวามิตรวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด , พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา , พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข และผู้ดำเนินรายการ คุณช่อผกา วิริยานนท์
ท่านแม่ชีศันสนีย์ จากการเรียนรู้ความตายของคนใกล้ชิดสู่นวัตกรรมแห่งการฉุดช่วยของ ‘ธรรมาศรม’ ท่านใช้ธรรมและศิลปภาวนามาเยียวยาจิตใจตามจริตนิสัยของผู้นั้น โดยเริ่มจากความรักสู่การเรียนรู้ที่จะดูแลจิตใจของผู้ป่วยจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ด้วยสมัยนั้นยังไม่มีความแพร่หลายของแนวคิดการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) ในประเทศไทย มีเพียงแนวคิดการตายดีที่เป็นวิถีของชาวพุทธเท่านั้น การเยียวยาเหล่านั้นได้รับอนุญาตจากผู้ป่วยและครอบครัวให้มีการบันทึกวีดิทัศน์ ต่อมาได้กลายเป็นกรณีศึกษาในวงการการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ที่ท่านนำมาสอนบุคลากรทางการแพทย์และครอบครัวผู้ป่วยในระยะต่อมา
7 ธันวาคม 2564 การคืนชีวิตสู่ธรรมชาติ ด้วยการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care)
ท่านแม่ชีศันสนีย์ ได้ใช้อาคารธรรมาศรม เป็นบ้านของท่านจวบจนลมหายใจสุดท้าย หลังจากท่านเปลี่ยนร้ายกลายดี โดยใช้การป่วยเป็นมะเร็งของท่านสร้างแรงบันดาลใจและแสดงรูปธรรมของการ ‘อยู่อย่างมีความหมายและตายอย่างมีคุณค่า’ https://youtu.be/8vStqZpEJCA ท่านให้สัมภาษณ์ก่อนการจากไปอย่างตั้งใจแสดงธรรมครั้งสุดท้าย โดยใช้ชีวิตของท่านถ่ายทอดความหมายของการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) กว้างกว่าที่วงการแพทย์ตัดสินว่าเกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายที่ไม่สามารถรักษาได้แล้ว หรืออย่างมากคือเมื่อได้รับการวินิจฉัยโรค แต่ท่านเลือกการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ตั้งแต่ท่านเริ่มต้นชีวิตทางธรรม ตลอด 41 ปี ด้วยการใช้ชีวิต ‘อยู่อย่างมีความหมายและตายอย่างมีคุณค่า’ ท่านต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้เห็น ‘การใช้ชีวิต’ ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตจนคืนชีวิตสู่ธรรมชาติ ห้องพักและห้องพระที่ท่านใช้ภาวนาในช่วงสุดท้ายภายในอาคารธรรมาศรมนี้ จึงมีเรื่องราวลึกซึ้งมากมาย ที่ท่านสาธิตการตายดี หรือในทางพุทธเรียกว่า ‘ตายอย่างอริยะ’ คือ ตาย (จากกิเลส) เสียก่อนตาย
ด้วยวิสัยทัศน์ในการสร้างอาคารธรรมาศรม ทำให้ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกผ่อนคลายลง กรมสุขภาพจิตร่วมกับเสถียรธรรมสถาน ได้ใช้อาคารธรรมาศรมสำหรับเยียวยาจิตใจบุคลากรทางการแพทย์หลังความเหนื่อยล้าจากสถานการณ์โควิด-19 ด้วยศักยภาพของเสถียรธรรมสถานที่มีสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการเยียวยาและมีอาคารที่พักที่ปลอดภัย นับเป็นโอกาสที่ ‘ธรรมาศรม’ ได้รับใช้สังคมในยามวิกฤต และเหล่าจิตอาสาเสถียรธรรมสถานได้แสดงความขอบคุณต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่ทุ่มเทกายใจ อันเป็นเหตุการ์สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสังคมไทย
หลักสูตรศิลปะการดำเนินชีวิตด้วยอานาปานสติภาวนา https://youtu.be/l3Z9qM9NZ8w หลักสูตรเพื่อให้แสงสว่างแห่งปัญญานำพาให้คนพ้นทุกข์กับทุกเรื่องราวของชีวิต ได้รับการสนับสนุนโดยกองทุนเสถียรธรรมสถานมาตั้งแต่ พ.ศ.2564 ให้มีการจัดอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องในทุกวันศุกร์-อาทิตย์ โดยเฉพาะเมื่ออาคารธรรมาศรมสร้างเสร็จพอดีกับการเกิดสถานการณ์โควิด-19 อาคารธรรมาศรมและชุมชนเสถียรธรรมสถานไม่เคยหยุดทำกุศลด้วยการเปิดพื้นที่ตามความเหมาะสมกับมาตรการของภาครัฐ เพื่อให้ ‘ธรรมาศรม’ เป็นพื้นที่ปลอดภัยและฉุดช่วยจิตใจของผู้คนที่เหน็ดเหนื่อย ท้อแท้จากวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยาวนานให้ได้ผ่อนพักและเยียวยาตนเองให้กลับมาเข้มแข็งอีกครั้งอย่างมีสติปัญญา https://youtu.be/Zq1cDmyWu4Q ด้วยความสัปปายะของสถานที่และหลักสูตรที่ทันสมัย ทำให้แต่ละรุ่นมีผู้เข้าร่วมเป็นคนวัยหนุ่มสาวและวัยทำงานถึง 70 % และได้ต่อยอดความศรัทธาในการพัฒนาตนเองมาสู่การปฏิบัติเข้มข้นจากกายวิเวก จิตวิเวก สู่อุปธิวิเวก ในโครงการบวชเพื่อเปลี่ยนรหัสขีวิต (พุทธสาวิกาศีล 10) ทุกวันเสาร์ที่สองของเดือน
พ.ศ.2559 ท่านแม่ชีศันสนีย์ ตระหนักถึงความทุกข์ยากของครอบครัวว่า ‘หนึ่งคนป่วย หลายคนทุกข์’ จากประสบการณ์ธรรมยาตราตลอด 5 ปีไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ ทำให้ท่านมีปณิธานเมื่อครบบวช 36 พรรษาเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2559 ว่า “เสถียรธรรมสถานในทศวรรษที่ 4 จะมอบองค์ความรู้ธรรมเพื่อการเยียวยาสังคมให้เป็นมรดกแก่โลกโดยสร้าง ‘ธรรมาศรม’ https://youtu.be/nEAQ6xVVXc8 ให้เป็นศูนย์วิจัยทางธรรมหรือธรรมวิจัย เพื่อสาธิตการนำธรรมออกไปเยียวยาสังคม ด้วยองค์ความรู้ตลอดสายตั้งแต่ปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ โดยนำประสบการณ์ 3 ทศวรรษของเสถียรธรรมสถาน มาสกัดในห้องแล็บวิจัยชีวิตที่เรียกว่า ‘ธรรมาศรม’ สร้างเป็น ‘แคปซูลธรรมะ’ คือนำแก่นธรรมในพุทธกาลมาสู่ปัจจุบันกาล ทำของยากให้ง่าย ทำให้แพร่หลาย เข้าไปอยู่ในครัวเรือน ช่วยให้มนุษย์อยู่อย่างมีความหมาย ตายอย่างมีคุณค่า ได้ทุกเพศวัย ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตจนคืนชีวิตสู่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นการทำให้งานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไม่ใช่การเตรียมตัวไปสู่การตายดีเท่านั้น แต่ยังเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไปถึงการใช้ชีวิตอย่างเข้าใจชีวิตตั้งแต่การปฏิสนธิจิต การเลี้ยงดูเด็กทุกช่วงวัย การเติบโตเป็นคนหนุ่มสาวและผู้ใหญ่วัยทำงานที่เข้าใจชีวิตและใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย และมีความสัมพันธ์ที่มีศีลเป็นพื้นฐานที่ทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นความผูกพันที่มีความสุขมากกว่าปมทุกข์ที่ยากจะคลี่คลายในตอนที่ความตายใกล้เข้ามา ดังคำที่ท่านเตือนให้เราไม่ประมาทว่า ‘คนที่เรารักอยู่กับเราสั้นลงทุกวัน’
พ.ศ. 2555 พุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต เสถียรธรรมสถานได้สร้างและอัญเชิญพระพุทธชยันตีองค์ดำนาลันทาเป็นองค์ประธานงานสวดมนต์ข้ามปี ณ ท้องสนามหลวง ท่านใช้โครงการ ปลุกหัวใจผู้หญิง หัวใจแม่ หัวใจโพธิสัตว์ ธรรมยาตราเพื่ออัญเชิญพระพุทธชยันตีองค์ดำนาลันทา จากศรัทธา สู่ศรัทธา จากการเยียวยาคน สู่การเยียวยาสังคม
ไปทั่วประเทศ https://youtu.be/Yu61aKSUY9o ท่านใช้พุทธวิธีในการทำงานเชิงรุกเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเยียวยาผู้ป่วยและสร้างบุคลากรทางการแพทย์ให้มีหัวใจโพธิสัตว์ สร้างทีมดูแลผู้ป่วยคือญาติใกล้ชิดให้มีความเข้าใจ มีองค์ความรู้พร้อมกับมีหัวใจโพธิสัตว์ เป็นวิธีการขับเคลื่อนที่ออกไปทำงานเชิงรุกยังโรงพยาบาลทั่วประเทศเป็นระยะเวลา 5 ปี ในการนำธรรมเยียวยาเข้าสู่วิถีชีวิตในช่วงชีวิตสุดท้ายของมนุษย์เพื่อการเตรียมตัวให้สามารถอยู่อย่างมีความหมายและตายอย่างมีคุณค่าได้ ตลอด 5 ปีของการทำงานจึงเกิดการสังเคราะห์องค์ความรู้มากมายจากการทำงานลงพื้นที่เพื่อทำงานเยียวยาผู้ป่วยในโรงพยาบาลในทุกมิติ จนเกิดเป็นต้นทุนของการทำงานเยียวยาในงาน ‘ ธรรมาศรม ‘ นวัตกรรมแห่งการฉุดช่วย
พ.ศ. 2549 วีดิทัศน์วันที่บัวบาน https://youtu.be/ZnJnEHioiAQ VDO วันที่บัวบาน / ที่แสดงภาพผู้ป่วยมะเร็งที่ลดการใช้ยาระงับความความเจ็บปวดและคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงสุดท้ายได้ เมื่อตระหนักว่า ‘เป็นมะเร็งที่กาย ไม่ได้เป็นมะเร็งที่ใจ’ ได้รับความสนใจอย่างมาก คุณบัวเป็นหญิงไทยที่ถูกหลอกไปค้าประเวณีในต่างแดน ด้วยความคับแค้นใจ เธอพยายามหนีและต่อสู้ ทำให้ผู้ที่หลอกเธอมาเสียชีวิตจากการหลบหนีของเธอ เธอจึงต้องโทษจำคุกที่ประเทศญี่ปุ่น และเมื่อพบว่าเธอป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ทางทนายความไทยได้ช่วยประสานให้ทางประเทศญี่ปุ่นอนุญาตให้เธอกลับมารักษาตัวระยะสุดท้ายที่เมืองไทย โดยต้องอยู่ภายในโรงพยาบาล เธอจึงขอได้โอกาสพบท่านแม่ชีศันสนีย์สักครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อเรียนรู้การตายอย่างไม่ทรมาน นั่นจึงเป็นที่มาของวีดิทัศน์ ‘วันที่บัวบาน’ ซึ่งเป็นเรื่องราวการเปลี่ยน ‘ผู้ป่วย’ ให้เป็น ‘ครู’ วีดิทัศน์นี้แพร่หลายมาก และทำให้ท่านได้รับการยอมรับจากบุคลากรทางการแพทย์ให้เป็นผู้ให้ความรู้และแรงบันดาลใจในโอกาสต่างๆ รวมทั้งเกิดการผลักดันเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายร่วมกับหน่วยงานระดับชาติ ส่งผลให้แนวความคิดของท่านเรื่อง ‘ป่วยกายแต่ไม่ป่วยใจ’ ‘ครอบครัวคือหัวใจของการเยียวยา’ และ ‘อยู่อย่างมีความหมายและตายอย่างมีคุณค่า’ แพร่หลายออกไปสร้างแรงบันดาลใจให้ทั้งผู้ป่วย ครอบครัว บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
พ.ศ. 2546 การเยียวยาคุณพ่อ ผู้แม้ไม่ได้ดูแลกันเมื่อท่านแม่ชีศันสนีย์อยู่ในวัยเยาว์ แต่เมื่อผู้เป็นลูกสามารถก้าวข้ามปมชีวิตในครอบครัว ท่านได้เยียวยาคุณพ่อผู้ชราประหนึ่งเด็กน้อยผู้ให้ความรักอย่างไม่มีเงื่อนไข ด้วยการวางศีรษะกลิ้งไปบนอกของคุณพ่อ เป็นสัมผัสที่เข้าไปถึงหัวใจและคลี่คลายปมชีวิตซับซ้อนที่หลายครอบครัวอาจพบเจอให้จากกันอย่างสวยงาม และกลายเป็นหนึ่งวิธีการในงาน ‘ครอบครัวคือหัวใจของการเยียวยา’ ที่ใช้ลูกหลานเยียวยาผู้สูงวัยหรือที่ท่านใช้คำว่า ‘ต้วมเตี้ยมเลี้ยงเตาะแตะ’
พ.ศ 2546 การเยียวยา คุณสุภาพร พงพฤกษ์ อาสาสมัครรุ่นบุกเบิกของเสถียรธรรมสถาน ด้วยการภาวนาผ่านดนตรี ศิลปะ และการสัมผัส โดยท่านขอใช้โอกาสนั้นให้ผู้ป่วยเป็นครูผู้สาธิตการดูแลแบบประคับประคองให้ผู้ป่วยผ่านความเจ็บปวดและเข้าสู่การเตรียมตัวตาย ด้วยการออกแบบชีวิตที่มีความหมายในช่วงท้ายแบบที่ตนเองต้องการ เมื่อเผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์รายการ ‘นี่แหละชีวิต’ จึงกลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เกิดการเริ่มต้นของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้จากไปอย่างมีความสุข โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
ความเจ็บป่วยเป็นความทุกข์ที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ หากแต่เมื่อเกิดความเจ็บป่วยขึ้น บางคนอาจจะจมอยู่ในกองทุกข์ ส่วนบางคนได้เรียนรู้ที่จะใช้ความทุกข์จากความเจ็บป่วยเป็นครูสู่การพัฒนาสติปัญญา สามารถเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง ซึ่งนับเป็นผู้ป่วยที่โชคดีที่สามารถพ้นทุกข์ทางใจได้
และด้วยกรุณาจากหัวใจและความตั้งใจมั่นที่จะทำงานตามพุทธประสงค์ที่ว่า “การดูแลผู้ป่วยคือการดูแลเรา...ตถาคต” ทำให้ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ทุ่มเทและอุทิศแรงกายแรงใจทำงานนำธรรมะออกมาเยียวยาสังคมอย่างผู้รับใช้ เพื่อชีวิตที่สงบเย็นและเป็นสุขสำหรับคนทุกช่วงวัยตั้งแต่เกิดจนตาย เริ่มต้นจากงานจิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์ ถึงการเยียวยาผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่เป็นการใช้โอกาสแห่งทุกข์จากความเจ็บป่วยเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน เป็นสะพานสานสายใยอันงดงามแห่งความรักและความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวซึ่งเป็นหัวใจแห่งการเยียวยา
งานเยียวยาผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น ส่วนหนึ่งดำเนินไปพร้อมกับการบรรยายธรรมในเส้นทางการเคลื่อนไปของพระพุทธชยันตีองค์ดำ นาลันทา พระผู้เป็นเลิศแห่งปัญญาและการเยียวยา เพื่อให้ผู้คนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้เคารพสักการะ และการแสดงธรรมเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ร่วมกับการให้ความรู้และความเข้าใจเรื่องการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจโพธิสัตว์แก่บุคลากรด้านการแพทย์และพยาบาล และอีกส่วนหนึ่งคือการไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจผู้ป่วย ให้ความรู้แก่ญาติหรือผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้เยียวยาตามแนวทางของนวัตกรรมการสร้างมนุษยชาติที่ได้ภาวนาไปกับการเยียวยาผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยความรักและความเข้าใจ เพราะจากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากการเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ กว่า 400 สถานที่ เป็นโรงพยาบาลกว่า 200 แห่งในเกือบ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ได้สัมผัสและสื่อสารกับผู้ป่วยมากมาย ในมุมมองของท่านจึงเห็นว่า
“สำหรับชาวพุทธ การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นงานชั้นเลิศที่บอกให้เราได้รู้ถึงสัจธรรม และพบว่าความตายนั้นมีความซับซ้อนและลึกซึ้งกว่าที่เราคิด จิตของคนใกล้ตายนั้นหากมีความพร้อมที่จะหลุดพ้น จะเปี่ยมไปด้วยความกตัญญูต่อทุกสิ่งที่เกื้อกูลต่อการมีชีวิตที่ผ่านมา เขาสามารถสื่อสารกับคนเป็นได้โดยไม่ต้องใช้คำพูด” ซึ่งท่านแม่ชีย้ำว่าช่วงเวลาแห่งความเข้าใจนั่นเองคือช่วงเวลาอันงดงามที่จะทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับการเยียวยาและผู้เยียวยาได้ตระหนักถึงความกตัญญูและความรักที่ท่วมท้นในหัวใจของอีกฝ่าย จนเมื่อเวลาของการจากพรากมาถึงทุกคนก็จะมีจิตใจที่เข้มแข็งและยอมรับความจริงได้
อีกส่วนหนึ่งคือการบรรจุไว้ในชั้นเรียนของสาวิกาสิกขาลัย ที่สอนให้นิสิตรู้วิธีการเยียวยาผู้ป่วยให้อยู่กับความทุกข์โดยไม่เป็นทุกข์ ผ่านกระบวนการการเรียนรู้ การศึกษาดูงาน และการฝึกงาน ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้เขียน ซึ่งเป็นนิสิตสาวิกาสิกขาลัย รุ่นที่ 1 ได้ไปพำนักรักษาตัวที่ อโรคยาศาล สถานอภิบาลผู้ป่วยมะเร็งด้วยการแพทย์ทางเลือกแบบผสมผสานอย่างเป็นองค์รวม ตั้งอยู่ที่วัดคำประมง จังหวัดสกลนคร (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็งจังหวัดสกลนคร) ซึ่งที่นั่นเป็นหนึ่งในสถานที่ศึกษาดูงานของนิสิตในเรื่องการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ทำให้ได้ใช้ความทุกข์จากความเจ็บป่วยครั้งนั้นเรียนรู้ที่จะยอมรับและเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง จนกระทั่งอาการดีขึ้นก็สามารถนำบทเรียนของตัวเองไปแนะนำและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยตลอดจนญาติหรือสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยให้เข้าใจ และยอมรับความเป็นจริงของชีวิต ช่วยให้ทั้งผู้ป่วยและครอบครัว มีความรู้สึกดีขึ้น เป็นทุกข์น้อยลง
นอกจากนี้ยังมีกรณีของ บัว ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่มีโอกาสได้พบท่านแม่ชีศันสนีย์ในช่วงสุดท้ายของชีวิต จากความทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดแสนสาหัสทางกายเพราะโรคร้ายที่รุมเร้าและความทุกข์ในใจที่ยังไม่อาจคืนคลายความโกรธ ความไม่เข้าใจ เธอได้เรียนรู้ธรรมะในขณะที่ร่างกายเจ็บป่วยจนสามารถใช้ชีวิตในปัจจุบันขณะที่เหลืออยู่ให้มีความสุขด้วยความเมตตาและให้อภัย ทำให้จาก ‘ผู้ป่วย’ กลายเป็น ‘ครู’ ที่สอนให้ผู้คนได้เห็นความงดงามของการให้อภัย และในที่สุด ด้วยการคืนไม่ฝืนไว้ เธอก็ได้คืนลมหายใจ