EN / TH
ธรรมาศรม

‘ธรรมาศรม’

อาศรมของผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

‘อยู่อย่างมีความหมาย...ตายอย่างมีคุณค่า’

ธรรมาศรม คือ ชุมชนแห่งสติ (Learning Community of Mindfulness Healing) ที่รวบรวมนวัตกรรมแห่งการฉุดช่วยเพื่อให้กายรอด ใจรอดสังคมรอด จากความทุกข์ของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย และจากพราก ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 2.5 ไร่ ของชุมชนเสถียรธรรมสถาน ’  https://youtu.be/nEAQ6xVVXc8  มีแนวคิดในการออกแบบชุมชนที่เรียกว่า ‘ธรรมนิเวศ’ คือเน้นสร้างสิ่งแวดล้อมที่มีความสัปปายะในทุกด้าน มีความสงบและเกื้อกูลต่อการปฏิบัติธรรม ร่วมกับองค์ความรู้ทางธรรมชาติบำบัด สร้างวิถีชีวิตใหม่อย่างเข้าใจธรรมะ ธรรมชาติ และการ

พึ่งพาตนเอง  ตั้งแต่การกินอาหารที่ปลอดภัย ปราศจากการเบียดเบียน การอยู่ท่ามกลางต้นไม้และสรรพชีวิตใหญ่น้อยที่เกื้อกูลต่อการเห็นธรรมะจากธรรมชาติ  การนอนในอาคารสถานที่ที่เกื้อกูลสอดคล้องกับสภาพร่างกายของผู้ปฏิบัติธรรมทุกวัย ตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ แม่ลูกอ่อน ผู้ป่วย คนชรา และผู้ต้องการธรรมเยียวยาในระยะสุดท้ายของชีวิต  โดยอาคารธรรมศรม (ที่พัก) ออกแบบให้สามารถรองรับผู้ปฏิบัติธรรมทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาวได้ถึง 80 กว่าห้อง ที่มาอุทิศชีวิตร่วมกันในการสร้างชุมชนธรรมวิจัย ผ่าน ‘การเปลี่ยนร้ายกลายดี’ ของตนเอง

สนใจใช้พื้นที่ธรรมาศรม ติดต่อ คุณวัชรี สุขศรี 02 519 1119 , 09 9391 4292

อาคารห้องพัก 80 กว่าห้อง

อู่ข้าว อู่น้ำ

สวนธรรม  

ห้องประชุม

พื้นที่เพื่อกิจกรรมเรียนรู้กายใจ

อาคารธรรมาศรม = ธรรมนิเวศ + ธรรมชาติบำบัด

 

        อาคารธรรมาศรมใช้องค์ความรู้ทาง ‘ธรรมนิเวศ’ คือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่สัปปายะในทุกด้านที่เกื้อกูลต่อวิถีชีวิตของผู้ปฏิบัติธรรม ร่วมกับองค์ความรู้ทาง ‘ธรรมชาติบำบัด’ สร้างวิถีชีวิตใหม่อย่างเข้าใจธรรมะ ธรรมชาติ และการพึ่งพาตนเอง ตั้งแต่การกินอาหารที่ปลอดภัยปราศจากการเบียดเบียน การอยู่ท่ามกลางต้นไม้และสรรพชีวิตใหญ่น้อยที่เกื้อกูลต่อการเห็นธรรมจากธรรมชาติ การหลับนอนในอาคารสถานที่ที่เกื้อกูลสอดคล้องกับสภาพร่างกายของผู้ปฏิบัติธรรมทุกวัย ตั้งแต่แม่ที่ตั้งครรภ์ แม่ลูกอ่อน ผู้ป่วย คนชรา และผู้ต้องการธรรมเยียวยาในระยะสุดท้ายของชีวิต โดยอาคารถูกออกแบบให้สามารถรองรับผู้ปฏิบัติธรรมแบบระยะยาวได้ถึง 80 กว่าห้อง ที่มาอุทิศชีวิตร่วมกันในการสร้างชุมชนธรรมวิจัย ผ่าน ‘การเปลี่ยนร้ายกลายดี’ ของตนเอง

สุข-ทุกข์เป็นสากล...ทุกคนเสมอกันด้วย ‘จิตที่คิดจะให้’

 

        ในหอประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเป็นครั้งสุดท้ายว่า “ความตายเป็นที่สุดรอบของชีวิต เธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” ซึ่งท่านแม่ชีศันสนีย์ใช้ภาษาในปัจจุบันว่า “การเกิดและตายเป็นแพ็กเกจเดียวกัน” ไม่มีใครเกิดแล้วไม่ตาย ความเจ็บป่วยและความตายไม่ได้มาถึงเมื่อเราแก่ชราเท่านั้น แต่มาเยือนได้ตั้งแต่มนุษย์ยังอยู่ในครรภ์มารดา ไม่ว่าจะเป็นชาวพุทธ คริสต์ อิสลาม หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใด ความตายก็ยังคงเป็นที่สุดรอบของชีวิตเหมือนกัน ความต่างอยู่ที่ใครจะสามารถมีชีวิตที่ ‘อยู่ได้...อย่างไม่ตายทั้งเป็น’

 

        เคล็ดลับของการ ‘อยู่อย่างไร…ไม่ตายทั้งเป็น’ นั้น เป็นธรรมหลักในการสอนของเสถียรธรรมสถานมาตลอดสามทศวรรษว่า “ปฏิจจสมุปบาทจะทำให้เราพ้นทุกข์ได้เพราะจิตเห็นการเกิดดับฉับพลัน ไม่เผลอเพลิน เอ๋ออวย จ่อมจม งมงาย แต่ด้วยการเจริญสติในทุกการกระทำ เมื่อมีการกระทบ เห็นการกระเทือน แต่ไม่กระแทกให้ใครเจ็บปวดเพราะจิตปรุงแต่งอย่างมีอวิชชาของเรา และ ‘อริยะสร้างได้ ไม่ใช่สิ่งสุดวิสัย’ การเป็นชาวพุทธต้องมีเป้าหมาย พัฒนาชีวิตตนเองในชาตินี้ให้พ้นจากปุถุชน ก้าวขึ้นมาเดินบนหนทางอริยะ หรืออริยมรรค หนทางของปัญญา ศีล สมาธิให้ได้ นั่นจึงจะเป็นชีวิตที่ไม่ตายทั้งเป็น หรือหายใจทิ้งไปวันๆ เป็นมนุษย์ที่แท้ ไม่เป็นแค่เหยื่อของอารมณ์”

        การเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างศานติทำให้ในสามทศวรรษที่ผ่านมา เสถียรธรรมสถานกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ทางจิตวิญญาณแห่งหนึ่งของโลก เป็นแลนด์มาร์กทางจิตวิญญาณของผู้แสวงหาจากทั่วโลก และการสอนอย่างไม่งมงาย เจาะลึกเข้าไปถึงธรรมที่เป็นหัวใจของการพ้นทุกข์ จึงทำให้เพื่อนมนุษย์ต่างชาติต่างศาสนาเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อให้ความทุกข์ที่เป็นสากลถูกแปรเปลี่ยนเป็นความสุขที่เป็นสากล ด้วยธรรมะที่เป็นสากลกับคนทุกศาสนา

‘ตารากลับบ้าน’...บ้านแห่งการทำงานเพื่อช่วยผู้หญิงให้บรรลุธรรม

 

        วันหนึ่งที่ท่านแม่ชีศันสนีย์เดินทางไปยังเมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ดินแดนที่ไกลคนละซีกโลก ท่านได้รับมอบ ‘พระอารยตารามหาโพธิสัตว์’ อายุกว่า 2,000 ปี ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ที่ชาวพุทธวัชรยานให้ความนับถือ จาก ดร. ฮง เชม อดีตผู้อำนวยการกองบำรุงกำลัง องค์การสหประชาชาติ บุคคลผู้ที่แม้เพิ่งพบท่านแม่ชีเป็นครั้งแรก แต่ซาบซึ้งกับการทำงานของท่านแม่ชีในฐานะนักบวชหญิงที่เปิดเสถียรธรรมสถานให้เป็นบ้านที่ช่วยเหลือผู้หญิงซึ่งถูกกระทำความรุนแรง นาทีนั้นดร. ฮงได้กล่าวคำที่มีความหมายมากว่า

        “ตารา...กลับบ้าน”

        ท่านแม่ชีศันสนีย์มิได้สนใจที่ความล้ำค่าของพระอารยตารามหาโพธิสัตว์ในฐานะรูปเคารพอันศักดิ์สิทธิ์ วัตถุโบราณอายุกว่า 2,000 ปี หรือตำนานการค้นพบ แต่ท่านตั้งคำถามว่า “เหตุใดจึงมีผู้คนนับถือพระอารยตารามหาโพธิสัตว์พระองค์นี้มายาวนาน และชาวอินเดียเชื่อว่าท่านคือพระมารดาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์” และคำตอบจากการสืบค้นนั้นพบว่า ‘ความอัศจรรย์คือคุณธรรมของท่าน’ ซึ่งนับตั้งแต่วันนั้น คุณธรรมของพระอารยตารามหาโพธิสัตว์ก็กลายมาเป็นพลังใจในการทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของท่านแม่ชีศันสนีย์และชาวชุมชนเสถียรธรรมสถาน

        ปี พ.ศ. 2549 ได้รับพระอารยตารามหาโพธิสัตว์ มาประดิษฐานเป็นการถาวร ณ เสถียรธรรมสถาน

        ปี พ.ศ. 2556 สร้างถ้ำพระอารยตารามหาโพธิสัตว์ ห้องภาวนาที่เหมือนอยู่ในท้องของแม่

        ปี พ.ศ. 2558 สร้างพระมหาเจดีย์พระอารยตารามหาโพธิสัตว์หมื่นพระองค์ รองรับการประดิษฐานของพระศรีอาริยเมตไตรย รายล้อมด้วยพระอารยตารามหาโพธิสัตว์ ผู้อธิษฐานจิตที่จะเป็นพระมารดาของพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป

 

ธรรมาศรม...การเยียวยาด้วยหัวใจแม่...หัวใจโพธิสัตว์

 

        ในขณะที่เสาเข็มของอาคารธรรมาศรมต้องแข็งแรง อาสาสมัครและผู้มีส่วนร่วมในงานมหากุศลนี้ก็ต้องทำตนให้เป็น ‘เสาเข็มที่มีชีวิต’ พัฒนาตนเองทั้งทักษะการเยียวยาทางกาย และมีโพธิจิตที่จะมอบความเมตตาเยียวยาทางใจได้อย่างลึกซึ้ง จึงเป็นงานที่อาสาสมัครต้องน้อมนำ ‘หัวใจแม่...หัวใจโพธิสัตว์’ มาใช้ในการทำงาน ซึ่งท่านแม่ชีเชื่อมั่นเสมอว่าเวลาที่เราทำงานยากให้สำเร็จได้นั้นเป็นเพราะเรามีหัวใจแม่ คือผู้ให้อย่างไม่มีเงื่อนไข คุณธรรมของพระอารยตารามหาโพธิสัตว์จึงเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานธรรมาศรม...งานที่ยาก แต่ต้องทำให้สำเร็จ ดังที่ท่านแม่ชีศันสนีย์กล่าวอย่างมุ่งมั่นว่า

        “ความโดดเด่นของพระอารยตารามหาโพธิสัตว์คือผู้หญิงที่ปราศจากความกลัว พระบาทซ้ายของพระองค์อยู่ในท่าที่สงบเย็น พระบาทขวามีดอกบัวรองรับ นั่นหมายถึงการดีดตัวออกไปช่วยผู้อื่นอย่างมีพุทธะ พระหัตถ์ขวาที่หงายขึ้นของพระองค์คือการยืนยันการให้พรทุกคน พระหัตถ์ซ้ายของพระองค์ที่ทรงจับดอกบัวอย่างมั่นคง แต่ไม่ยึด ไม่กำ หมายถึงการทำงานอย่างปล่อยวาง และมีปัญญา ข้าพเจ้าทำงานสร้างเสถียรธรรมสถานอย่างคนตายจาก เสถียรธรรมสถานเป็นสมบัติของคนตายจาก เสถียรธรรมสถานไม่ใช่ของข้าพเจ้า นี่จึงเป็นการยืนยันที่ทำให้ข้าพเจ้าหมดสงสัยว่าทำไมพระอารยตารามหาโพธิสัตว์จึงกลับบ้านหลังนี้...

        “ขอให้เราร่วมกันสร้าง ‘ธรรมาศรม’ ด้วยความเป็นเสาเข็มที่มีชีวิต คือลดความเห็นแก่ตัว และออกไปทำประโยชน์ให้กับคนได้มากที่สุด

‘ผู้’ ทำ ‘บุญ’ เป็น ‘ทุน’ ในการสร้าง ‘ธรรมาศรม’

งานมหากุศลที่จะช่วยคนให้ 'อยู่อย่างมีความหมาย...ตายอย่างมีคุณค่า'

หนึ่งท่าน...หนึ่งห้อง

 

คุณสุพัฒนา วัฒนรังสรรค์

 

        “คิดว่าเรามีบุญวาสนาที่ได้มาพบคุณแม่และสถานที่ซึ่งสร้างขึ้นมาอย่างดีเลิศแห่งนี้ที่เผื่อแผ่ให้พวกเราทุกคนได้มาปฏิบัติและมาสร้างบารมีร่วมกัน นับเป็นบุญอย่างยิ่งที่ได้มาเยือนสถานที่ซึ่งสวยสงบ มีผู้นำที่เข้มแข็ง และมีการบริหารจัดการที่ดีเยี่ยม นี้เป็นส่วนที่ทำให้ตัดสินใจว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งของโครงการธรรมาศรมที่คุณแม่ทำค่ะ”

 

คุณจันทนา สุขุมานนท์

ที่ปรึกษา บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)

        “ขอบคุณท่านแม่ชีศันสนีย์ที่ให้โอกาสได้เป็นสะพานบุญหรือทำบุญ บางคนมีเงิน บางคนก็มีกำลังกาย เราทำได้ทั้งนั้น ถ้าเราอยากจะทำ”

 

คุณเกศนี จิรวัฒน์วงศ์

 

        “เป็นปณิธานอันมั่นคงของคุณแม่ศันสนีย์ที่จะเกื้อกูลผู้คนในดำริซึ่งเป็นที่สุดของครูบาอาจารย์ ในฐานะที่เราเป็นศิษย์ผู้มีกตัญญู สิ่งใด อย่างไรที่เราจะสามารถปวารณาทำงานถวายท่านได้ ถือเป็นการรับใช้ ถวายเป็นอาจาริยบูชา ก็ตั้งใจอย่างเต็มที่ ส่วนตัวแล้วมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีประโยชน์เกื้อกูลต่อคนมากที่สุด การทำให้คนมีชีวิตอยู่ได้อย่างสบายไม่เจ็บป่วย และเข้าใจชีวิตด้วยการดูแลตัวเองอย่างง่ายๆ ด้วยธรรมชาติเป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้ เมื่อคนหนึ่งมีความสุข ก็จะทำให้ครอบครัวมีความสุข แต่ถ้าหนึ่งคนเจ็บป่วย ครอบครัวก็คงไม่มีความสุข ดังนั้น นี้จึงเป็นงานที่มุ่งมั่นตั้งใจมาก เป็นอาจาริยบูชาและเป็นการกตัญญูต่อท่าน”